พลิกฟ้าฝ่าวิกฤติ สรุปแผน “การบินไทย” ยุคใหม่ จาก รัฐวิสาหกิจ สู่ บริษัทเอกชนเต็มตัว กลับมาเทรดปี68

“การบินไทย” สายการบินแห่งชาติ จากเคยเป็นหนี้นับแสนล้านบาท มีเจ้าหนี้นับหมื่นราย ขาดทุนสะสม ก่อนเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การเดินทางระหว่างประเทศหยุดชะงักเมื่อช่วงปี 2563

กระหน่ำซ้ำเติมวิกฤติ จนฉุดให้สภาพทางการเงินเข้าขั้นโคม่ารุนแรง จนต้องยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลาย เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ขณะ 25 พ.ค. 2563 กระทรวงการคลังยอมปรับลดสัดส่วนการถือครองหุ้นจาก 51.03% เหลือ 47.86% มีผลให้การบินไทยหลุดพ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ

ซึ่งนับเป็นเวลากว่า 3 ปี ที่ “การบินไทย” หรือ TG ในตำนาน เร่งปฏิรูปธุรกิจ ดิ้นหารายได้ ลดรายจ่าย รีดไขมันส่วนเกิน ปรับลดพนักงานครั้งใหญ่ เพื่อให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟู ตั้งแต่ปรับโครงสร้างหนี้และทุน ทั้งการเพิ่มทุน แปลงหนี้เป็นทุน เพื่อเพิ่มส่วนผู้ถือหุ้น

ล่าสุด การบินไทย จำกัด (มหาชน) ภายใต้มือของ “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ประกาศเดินหน้า พาการบินไทยสู่ก้าวใหม่ในฐานะบริษัทเอกชนอย่างเต็มตัว พร้อมประกาศว่า ภายในไตรมาส 2 ปี 2568 การบินไทยจะสามารถออกจากการฟื้นฟูกิจการ และกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง หลังมีเจ้าหนี้แสดงเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก ประสบความสำเร็จขั้นแรก

สรุป 25 ข้อ เรื่องราวของการบินไทย ก่อนกลับเข้ามาเทรด ปี 2568

ทั้งนี้ Thairath Money ชวนสรุป 25 ข้อสำคัญ เกี่ยวกับเส้นทางของ “การบินไทย” จากรัฐวิสาหกิจ สู่ บริษัทเอกชน ผ่านอะไรมาบ้าง?

  1. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2503 ร่วมทุนระหว่างบริษัทเดินอากาศไทย หรือ Thai Airways Company (TAC) ซึ่งเป็นสายการบินภายในประเทศ และสายการบิน Scandinavian Airlines System (SAS) ของเดนมาร์ก ซึ่ง SAS เป็นผู้ถือหุ้น 30% โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาให้เป็นสายการบินแห่งชาติของไทย
  2. มีฐานปฏิบัติการหลักที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สมุทรปราการ การบินไทยเป็นสายการบินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันดับ 5 ในทวีปเอเชีย และอันดับ 43 ของโลก
  3. การบินไทยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2534 เริ่มแรกมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม
  4. การบินไทยเคยได้รับรางวัลสายการบินที่ให้บริการภาคพื้นที่สนามบินที่ดีที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก (The World’s Best Airport Services 2019)
  5. โครงสร้างการถือหุ้นดั้งเดิมของบริษัท แบ่งเป็น กระทรวงการคลัง 53.16%, ผู้ถือหุ้นรายย่อย 46.84%
  6. วันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ราชกิจจานุเบกษาประกาศ เรื่อง สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยสิ้นสภาพ
  7. ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 การบินไทย ปี 2563 มีสถานะขาดทุนสุทธิ 141,180 ล้านบาท
  8. ย้อนรอยสาเหตุการบินไทยขาดทุนสะสมเรื้อรัง พบนอกจากรายจ่ายสูง ยังมีปัญหาการจ่ายสินบน การจัดซื้อเครื่องบิน การบริหารงานภายใน เอื้อประโยชน์ผู้บริหารและพวกพ้อง
  9. จากปัญหาขาดทุนสะสม มีหนี้แสนล้าน ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบแผน 15 มิถุนายน 2564
  10. ปี 2566 การบินไทยกลับมาผลการดำเนินงานโดดเด่นอีกครั้ง โดยมีรายได้ 161,067 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 28,123 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,259.9% จากปี 2565 ที่ขาดทุนสุทธิ 252 ล้านบาท
  11. การดำเนินงานในงวด 9 เดือนของปี 2567 ของการบินไทย อยู่ที่ 24,191 ล้านบาท มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 29,330 ล้านบาท
  12. ตั้งแต่ ม.ค.-ก.ย. การบินไทยมีจำนวนผู้โดยสาร 11.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 14.7% จากปีก่อน
  13. รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากค่าบริการการบินจากจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งอัตราค่าบริการการบินต่อเที่ยวปรับตัวสูง ตลอดจนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขายและการโฆษณาที่เพิ่มขึ้น จากความจำเป็นในการจ่ายค่าธรรมเนียมสำรองที่นั่งที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณการจองเที่ยวบิน
  14. ปัจจุบัน การบินไทยมีพนักงาน 16,352 คน ซึ่งลดลงมากจากปี 2562 ที่มีพนักงานมากถึง 28,032 คน ซึ่งมาจากการลดคน ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่
  15. ความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูนั้น ปัจจุบัน การบินไทยมีการแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการแบบภาคบังคับ เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Mandatory Conversion) คิดเป็นมูลค่า 37,601.9 ล้านบาท
  16. การบินไทยจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 14,773.7 ล้านหุ้น โดยเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 หรือกระทรวงการคลัง ได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างเต็มจำนวนในสัดส่วน 100% ในขณะที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5, กลุ่มที่ 6 (สถาบันการเงิน) และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ ได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างในอัตรา 24.50%
  17. แง่สิทธิ แปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนเพิ่มเติม โดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) การบินไทยแจ้งว่า มีเจ้าหนี้แสดงเจตนารวมกันเกินกว่า 3 เท่าของจำนวนหุ้นที่มีรองรับตามแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว โดยได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเป็นจำนวน 4,911.2 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 12,500.1 ล้านบาท
  18. การใช้สิทธิแปลงดอกเบี้ยตั้งพักใหม่เป็นทุนมูลค่า 3,351.2 ล้านบาท และได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 1,304.5 ล้านหุ้น สุทธิภาษีหัก ณ ที่จ่าย รวม (1) – (3) คิดเป็นภาระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งสิ้นมูลค่า 53,453.2 ล้านบาท เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 20,989.4 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
  19. “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” ระบุว่า จากการที่การบินไทยประสบผลสำเร็จจากกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุน จะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินของการบินไทยกลายเป็นบวกภายในสิ้นปี 2567 อันเป็นการบรรลุหนึ่งในเงื่อนไขในการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ
  20. การบินไทยเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในส่วนถัดไป ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ โดยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุน ช่วง 6 – 12 ธันวาคม 2567 หลังไฟลิ่งมีผลบังคับใช้
  21. การบินไทยจะจัดการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ ตามเงื่อนไขในแผนฟื้นฟูกิจการ และยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หลังจากกระบวนการปรับโครงสร้างทุนเพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก
  22. คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือนกว่าที่หุ้น THAI จะกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งก็คือไทม์ไลน์ช่วงไตรมาส 2 ปี 2568
  23. หน้าตาของโครงสร้างใหม่ที่จะได้เห็นหลังการขายหุ้นเพิ่มทุนสำเร็จ จะประกอบไปด้วย เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ 38.4%, กระทรวงการคลัง 32.9%, ผู้ถือหุ้นเดิม 12.4%, รัฐวิสาหกิจ 5% และกองทุนวายุภักษ์ 2.7%
  24. การบินไทยยุคใหม่อยู่ภายใต้แนวคิดและสโลแกนสำคัญ คือ “Fly for The New Pride” สู่ขอบฟ้าใหม่แห่งความภาคภูมิใจ
  25. ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 การบินไทยมีจำนวนเครื่องบินที่ใช้ปฏิบัติการบินรวม 77 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินลำตัวกว้างจำนวน 57 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบจำนวน 20 ลำ และมีเครือข่ายเส้นทางบินที่ให้บริการครอบคลุมกว่า 62 จุดบินใน 27 ประเทศทั่วโลก

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

You may also like...

error: Content is protected !!