พลิกฟ้าฝ่าวิกฤติ สรุปแผน “การบินไทย” ยุคใหม่ จาก รัฐวิสาหกิจ สู่ บริษัทเอกชนเต็มตัว กลับมาเทรดปี68
“การบินไทย” สายการบินแห่งชาติ จากเคยเป็นหนี้นับแสนล้านบาท มีเจ้าหนี้นับหมื่นราย ขาดทุนสะสม ก่อนเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การเดินทางระหว่างประเทศหยุดชะงักเมื่อช่วงปี 2563
กระหน่ำซ้ำเติมวิกฤติ จนฉุดให้สภาพทางการเงินเข้าขั้นโคม่ารุนแรง จนต้องยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลาย เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ขณะ 25 พ.ค. 2563 กระทรวงการคลังยอมปรับลดสัดส่วนการถือครองหุ้นจาก 51.03% เหลือ 47.86% มีผลให้การบินไทยหลุดพ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ
ซึ่งนับเป็นเวลากว่า 3 ปี ที่ “การบินไทย” หรือ TG ในตำนาน เร่งปฏิรูปธุรกิจ ดิ้นหารายได้ ลดรายจ่าย รีดไขมันส่วนเกิน ปรับลดพนักงานครั้งใหญ่ เพื่อให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟู ตั้งแต่ปรับโครงสร้างหนี้และทุน ทั้งการเพิ่มทุน แปลงหนี้เป็นทุน เพื่อเพิ่มส่วนผู้ถือหุ้น
ล่าสุด การบินไทย จำกัด (มหาชน) ภายใต้มือของ “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ประกาศเดินหน้า พาการบินไทยสู่ก้าวใหม่ในฐานะบริษัทเอกชนอย่างเต็มตัว พร้อมประกาศว่า ภายในไตรมาส 2 ปี 2568 การบินไทยจะสามารถออกจากการฟื้นฟูกิจการ และกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง หลังมีเจ้าหนี้แสดงเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก ประสบความสำเร็จขั้นแรก
สรุป 25 ข้อ เรื่องราวของการบินไทย ก่อนกลับเข้ามาเทรด ปี 2568
ทั้งนี้ Thairath Money ชวนสรุป 25 ข้อสำคัญ เกี่ยวกับเส้นทางของ “การบินไทย” จากรัฐวิสาหกิจ สู่ บริษัทเอกชน ผ่านอะไรมาบ้าง?
- บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2503 ร่วมทุนระหว่างบริษัทเดินอากาศไทย หรือ Thai Airways Company (TAC) ซึ่งเป็นสายการบินภายในประเทศ และสายการบิน Scandinavian Airlines System (SAS) ของเดนมาร์ก ซึ่ง SAS เป็นผู้ถือหุ้น 30% โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาให้เป็นสายการบินแห่งชาติของไทย
- มีฐานปฏิบัติการหลักที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สมุทรปราการ การบินไทยเป็นสายการบินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันดับ 5 ในทวีปเอเชีย และอันดับ 43 ของโลก
- การบินไทยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2534 เริ่มแรกมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม
- การบินไทยเคยได้รับรางวัลสายการบินที่ให้บริการภาคพื้นที่สนามบินที่ดีที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก (The World’s Best Airport Services 2019)
- โครงสร้างการถือหุ้นดั้งเดิมของบริษัท แบ่งเป็น กระทรวงการคลัง 53.16%, ผู้ถือหุ้นรายย่อย 46.84%
- วันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ราชกิจจานุเบกษาประกาศ เรื่อง สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยสิ้นสภาพ
- ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 การบินไทย ปี 2563 มีสถานะขาดทุนสุทธิ 141,180 ล้านบาท
- ย้อนรอยสาเหตุการบินไทยขาดทุนสะสมเรื้อรัง พบนอกจากรายจ่ายสูง ยังมีปัญหาการจ่ายสินบน การจัดซื้อเครื่องบิน การบริหารงานภายใน เอื้อประโยชน์ผู้บริหารและพวกพ้อง
- จากปัญหาขาดทุนสะสม มีหนี้แสนล้าน ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบแผน 15 มิถุนายน 2564
- ปี 2566 การบินไทยกลับมาผลการดำเนินงานโดดเด่นอีกครั้ง โดยมีรายได้ 161,067 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 28,123 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,259.9% จากปี 2565 ที่ขาดทุนสุทธิ 252 ล้านบาท
- การดำเนินงานในงวด 9 เดือนของปี 2567 ของการบินไทย อยู่ที่ 24,191 ล้านบาท มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 29,330 ล้านบาท
- ตั้งแต่ ม.ค.-ก.ย. การบินไทยมีจำนวนผู้โดยสาร 11.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 14.7% จากปีก่อน
- รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากค่าบริการการบินจากจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งอัตราค่าบริการการบินต่อเที่ยวปรับตัวสูง ตลอดจนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขายและการโฆษณาที่เพิ่มขึ้น จากความจำเป็นในการจ่ายค่าธรรมเนียมสำรองที่นั่งที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณการจองเที่ยวบิน
- ปัจจุบัน การบินไทยมีพนักงาน 16,352 คน ซึ่งลดลงมากจากปี 2562 ที่มีพนักงานมากถึง 28,032 คน ซึ่งมาจากการลดคน ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่
- ความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูนั้น ปัจจุบัน การบินไทยมีการแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการแบบภาคบังคับ เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Mandatory Conversion) คิดเป็นมูลค่า 37,601.9 ล้านบาท
- การบินไทยจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 14,773.7 ล้านหุ้น โดยเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 หรือกระทรวงการคลัง ได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างเต็มจำนวนในสัดส่วน 100% ในขณะที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5, กลุ่มที่ 6 (สถาบันการเงิน) และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ ได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างในอัตรา 24.50%
- แง่สิทธิ แปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนเพิ่มเติม โดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) การบินไทยแจ้งว่า มีเจ้าหนี้แสดงเจตนารวมกันเกินกว่า 3 เท่าของจำนวนหุ้นที่มีรองรับตามแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว โดยได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเป็นจำนวน 4,911.2 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 12,500.1 ล้านบาท
- การใช้สิทธิแปลงดอกเบี้ยตั้งพักใหม่เป็นทุนมูลค่า 3,351.2 ล้านบาท และได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 1,304.5 ล้านหุ้น สุทธิภาษีหัก ณ ที่จ่าย รวม (1) – (3) คิดเป็นภาระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งสิ้นมูลค่า 53,453.2 ล้านบาท เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 20,989.4 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
- “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” ระบุว่า จากการที่การบินไทยประสบผลสำเร็จจากกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุน จะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินของการบินไทยกลายเป็นบวกภายในสิ้นปี 2567 อันเป็นการบรรลุหนึ่งในเงื่อนไขในการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ
- การบินไทยเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในส่วนถัดไป ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ โดยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุน ช่วง 6 – 12 ธันวาคม 2567 หลังไฟลิ่งมีผลบังคับใช้
- การบินไทยจะจัดการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ ตามเงื่อนไขในแผนฟื้นฟูกิจการ และยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หลังจากกระบวนการปรับโครงสร้างทุนเพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก
- คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือนกว่าที่หุ้น THAI จะกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งก็คือไทม์ไลน์ช่วงไตรมาส 2 ปี 2568
- หน้าตาของโครงสร้างใหม่ที่จะได้เห็นหลังการขายหุ้นเพิ่มทุนสำเร็จ จะประกอบไปด้วย เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ 38.4%, กระทรวงการคลัง 32.9%, ผู้ถือหุ้นเดิม 12.4%, รัฐวิสาหกิจ 5% และกองทุนวายุภักษ์ 2.7%
- การบินไทยยุคใหม่อยู่ภายใต้แนวคิดและสโลแกนสำคัญ คือ “Fly for The New Pride” สู่ขอบฟ้าใหม่แห่งความภาคภูมิใจ
- ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 การบินไทยมีจำนวนเครื่องบินที่ใช้ปฏิบัติการบินรวม 77 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินลำตัวกว้างจำนวน 57 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบจำนวน 20 ลำ และมีเครือข่ายเส้นทางบินที่ให้บริการครอบคลุมกว่า 62 จุดบินใน 27 ประเทศทั่วโลก
ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ