‘วันรณรงค์อัมพาตโลก’ ทุกนาทีคือชีวิต รู้เร็วรอด ปลอดอัมพาต

29 ตุลาคม ‘วันรณรงค์อัมพาตโลก’ สถาบันประสาทวิทยา แนะประชาชนดูแลป้องกันตนเองจากโรคหลอดเลือดสมอง หาก มีอาการ แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดลำบาก มองเห็นภาพซ้อนแบบเฉียบพลัน ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที ให้เร็วที่สุด เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ด้วยองค์การอัมพาตโลก (World Stroke Organization : WSO) ได้กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปีเป็น ‘วันรณรงค์อัมพาตโลก’ (World Stroke Day) เพื่อรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับ ‘โรคหลอดเลือดสมอง’ เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและทั่วโลก ในประเทศไทย ‘โรคหลอดเลือดสมอง’ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 1 พบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและความพิการ ปัจจุบันมีเครือข่ายโรคหลอดเลือดสมองครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและความพิการลงได้

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์

กรมการแพทย์ มีหน่วยงานในสังกัดที่ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วย ‘โรคหลอดเลือดสมอง’ ได้แก่สถาบันประสาทวิทยาที่เป็นต้นแบบมาตรฐานทางวิชาการในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงและโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ ที่ดูแลผู้ป่วยในเขตภาคเหนือ โดยมีทีมแพทย์และบุคลากรที่เชี่ยวชาญพร้อมเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้เร็วขึ้น

อาการเตือน ‘โรคหลอดเลือดสมอง’

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการเตือนสำคัญ ที่สังเกตได้ด้วยตนเอง คือ ชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า ตามัวเห็นภาพซ้อนหรือเห็นครึ่งซีก อาการแขนขาข้างใดข้างหนึ่ง อ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดลำบาก และต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดหากไปโรงพยาบาลเร็วภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง มีโอกาสได้รับยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ อาการเหล่านี้มักเกิดอย่างเฉียบพลัน สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยต้องสังเกตอาการข้างต้นและรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดจะช่วยลดการเสียชีวิตและความพิการ

โดยสามารถป้องกันและลดความรุนแรงของโรคได้ด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน อายุที่มากขึ้น การสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย ภาวะน้ำหนักเกิน แต่สิ่งที่จะทำให้รักษาได้ผลดีที่สุด ผู้ป่วยอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติมากที่สุด คือการไปถึงโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดเมื่อเกิดอาการ หรือโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพราะ ‘โรคหลอดเลือดสมอง’ ทุกนาทีคือชีวิต รู้เร็วรอด ปลอดอัมพาต

แพทย์หญิงศศิธร ศิริมหาราช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่

แพทย์หญิงศศิธร ศิริมหาราช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ได้มีการพัฒนารูปแบบการรักษาผู้ป่วย ‘โรคหลอดเลือดสมอง’ อย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการนำเทคโนโลยี ต่างๆมาใช้รักษาผู้ป่วย อาทิ การรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันด้วยวิธี Mechanical Thrombectomy เป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งเปิดให้บริการศูนย์รังสีร่วมรักษาทางระบบประสาท (Neurointervention Center) โดยให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยทางระบบประสาท ด้วยวิธีการสอดสายสวนหลอดเลือด (Endovascular treatment) ด้วยเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือด ชนิด 2 ระนาบ (Biplane angiogram) โดยเฉพาะกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัด หรือ การผ่าตัดมีความเสี่ยง ทำให้แผลที่เกิดจากการรักษา มีขนาดเล็ก ระยะเวลาในการพักฟื้นน้อย ภาวะแทรกซ้อนต่ำ ผู้ป่วยเสียเลือดและปวดแผลน้อย สามารถรักษาและกลับบ้านภายในวันเดียว ยกระดับบคุณภาพชีวิตของประชาชน

You may also like...

error: Content is protected !!