โรคเลือดจาง อันตรายไหม

ภาวะเลือดจาง…ส่งผลต่อสุขภาพกว่าที่คิด

ภาวะเลือดจาง คืออะไร

เลือดจาง (Anemia) คือภาวะที่เม็ดเลือดแดงมีปริมาณลดน้อยลง เม็ดเลือดแดงของคนเราโดยปกติจะมีหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย โดยผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดจาง จะมาด้วยอาการปวดหัว ใจสั่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย มีผิวหนังซีดลง หรือเหลืองขึ้น

ภาวะโลหิตจาง หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ภาวะซีด (Anemia) คือภาวะที่คนๆ หนึ่งมีความเข้มข้นของเลือดแดงต่ำกว่าปกติ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดเกณฑ์วินิจฉัยภาวะโลหิตจางจากปริมาณฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ในเลือดเป็นตัวเลข ดังนี้

  • ต่ำกว่า 12 g/dL ในผู้หญิง
  • ต่ำกว่า 13 g/dL ในผู้ชาย
  • ต่ำกว่า 11 g/dL ในผู้หญิงตั้งครรภ์

ทั้งนี้ภาวะโลหิตจางไม่ถือเป็นโรค แต่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้จากหลายโรค หลายภาวะ เนื่องจากในร่างกายของเรามีปัจจัยหลายอย่างในการช่วยกันควบคุมการสร้างเม็ดเลือดแดงให้ออกมาในระบบหมุนเวียนโลหิตในปริมาณที่สมดุลเพียงพอ

ภาวะเลือดจาง แบ่งออกเป็น 2 สาเหตุหลักๆ ได้แก่

  • สาเหตุที่ 1 ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงได้น้อยลง โดยโรคที่พบบ่อย คือ การขาดธาตุเหล็ก ปกติไขกระดูกของคนเราต้องใช้ธาตุเหล็กในการสร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งการที่ไม่มีธาตุเหล็กปริมาณเม็ดเลือดแดงที่สร้างได้ก็จะลดลง ภาวะที่พบบ่อยในโรคชนิดนี้ก็คือมีการสูญเสียประจำเดือนออกจากร่างกายได้มากกว่าปกติ หรือคนที่มีแผลในกระเพาะหรือลำไส้ ทำให้มีถ่ายอุจจาระปนเลือด นอกจากนี้การที่มีโรคในไขกระดูกเอง เช่น ภาวะไขกระดูกฝ่อ หรือการรับประทานยาบางชนิดที่กดการทำงานของไขกระดูก หรือแม้กระทั่งมะเร็งของไขกระดูก หรือมะเร็งลิวคีเมียก็จะทำให้ไขกระดูกโดนกดการทำงานและสร้างเม็ดเลือดแดงได้น้อยลงเช่นเดียวกัน
  • สาเหตุที่ 2 เม็ดเลือดแดงถูกทำลายง่ายกว่าปกติ โดยภาวะที่พบได้บ่อยในประเทศไทย คือ โรคธาลัสซีเมีย โรคชนิดนี้เป็นโรคที่ถ่ายทอดกันทางพันธุกรรม ผู้ป่วยจะมีเม็ดเลือดแดงที่เปราะบางและแตกง่ายกว่าปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย ซีดลง เหลืองขึ้น ตรวจร่างกายอาจจะมีตับหรือม้ามโตร่วมด้วย ผู้ป่วยบางคนเป็นเพียงแค่พาหะธาลัสซีเมีย ซึ่งอาจจะไม่มีอาการแสดงดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ แต่อาจตรวจพบจากการเจาะเลือด พบความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงน้อย และขนาดของเม็ดเลือดแดงที่เล็ก ซึ่งอาจส่งผลต่อหญิงตั้งครรภ์ และสามารถส่งผลต่อบุตรได้

กลุ่มเสี่ยงต่อภาวะเลือดจาง

  • กลุ่มที่ 1 หญิงตั้งครรภ์ โดยผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะมีปริมาตรน้ำเหลืองต่อเม็ดเลือดแดงที่มากขึ้นส่งผลทำให้มีเลือดจาง
  • กลุ่มที่ 2 หญิงวัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงกลุ่มนี้จะมีการสูญเสียประจำเดือนเป็นประจำทุกเดือน ส่งผลทำให้มีภาวะขาดธาตุเหล็กได้และมีภาวะเลือดจาง
  • กลุ่มที่ 3 ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง หรือผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยทั้ง 2 ภาวะนี้จะมีการส่งผลต่อการทำงานของไขกระดูก ทำให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงได้น้อยลง
  • กลุ่มที่ 4 ผู้ป่วยสูงอายุ ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะมีภาวะไขกระดูกฝ่อ ไขกระดูกที่ทำงานได้น้อยลง

อันตรายของภาวะเลือดจาง

ภาวะเลือดจางหากไม่ได้รับการรักษา อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนได้ดังนี้

  1. ผู้ป่วยอาจมีอาการเหนื่อยง่าย ทำกิจวัตรประจำวันได้น้อยลงหรือออกกำลังกายได้น้อยลง
  2. ผู้ป่วยจะมีปัญหาต่อการทำงานของหัวใจ หัวใจต้องออกแรงสูบฉีดมากขึ้น นำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด
  3. ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ อาจจะส่งผลทำให้มีภาวะคลอดก่อนกำหนด หรือการที่มีบุตรมีโรคเลือดจาง หรือการที่มีบุตรน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ได้

การรักษาภาวะเลือดจาง

การรักษาภาวะเลือดจาง มีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น การให้ธาตุเหล็กในคนที่มีภาวะขาดธาตุเหล็ก การรักษาโรคในไขกระดูก หรือการฉีดยากระตุ้นเม็ดเลือดแดง เป็นต้น

นอกจากนี้ผู้ป่วยควรหมั่นสังเกตอาการของตัวเอง ถ้ามีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เริ่มมีคนทักว่าซีดลง ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและเจาะเลือดดูปริมาณความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง นำไปสู่การวิเคราะห์หาสาเหตุของเลือดจางและได้รับการรักษา เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนในอนาคต

ภาวะโลหิตจาง…อาการเป็นอย่างไร
เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีภาวะโลหิตจางหรือยัง ?

โดยปกติแล้วในร่างกายของคนเรา จะมีฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงที่เป็นตัวนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ในผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางจึงมีอาการผิดปกติจากการที่เนื้อเยื่อต่างๆ ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ อาการส่วนมากคือ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย รู้สึกเหนื่อยเวลาออกแรง วูบ หน้ามืด เวียนศีรษะ ง่วงนอนมากกว่าปกติ หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น เจ็บหน้าอก เล็บเปราะง่าย ผมร่วง ผิวแห้ง ตัวซีด เป็นต้น

ถ้าโลหิตจางมากๆ คือระดับฮีโมโกลบินต่ำกว่า 5 g/dL อาจจะกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจวาย (Heart failure) ได้ เนื่องจากหัวใจจะทำงานหนักขึ้นในการปั๊มเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย จนสุดท้ายหัวใจทำงานไม่ไหว ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอดตามมาได้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง ทั้งนี้ขึ้นกับความเฉียบพลันในการเกิดภาวะโลหิตจางด้วย ในผู้ป่วยที่เกิดภาวะโลหิตจางอย่างเฉียบพลัน เช่น มีการสูญเสียเลือดในปริมาณมากในเวลาอันสั้น จะมีอาการชัดเจนและรุนแรงกว่าคนที่มีภาวะโลหิตจางเรื้อรังมาเป็นระยะเวลานานๆ เนื่องจากในกลุ่มที่เกิดแบบเรื้อรัง ร่างกายจะปรับสภาพจนทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนมีภาวะโลหิตจางอยู่

ผู้ป่วยหลายคนตรวจเจอภาวะโลหิตจางจากการตรวจสุขภาพประจำปี โดยที่ไม่มีอาการแสดงมาก่อน การยืนยันหรือสรุปการวินิจฉัยจำเป็นต้องมีการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (complete blood count, CBC) ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องงดน้ำงดอาหารก่อนการเจาะเลือด

สาเหตุของภาวะโลหิตจาง

สาเหตุของภาวะโลหิตจางแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

  1. การสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง เช่น
  • โรคไขกระดูกผิดปกติ
  • โรคขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง ได้แก่ ธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 กรดโฟลิก
  • โรคไตวายเรื้อรัง ทำให้ขาดฮอร์โมนที่เป็นตัวกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง
  • โรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคในระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
  1. การทำลายเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ เช่น
  • โรคธาลัสซีเมีย
  • โรคขาดเอนไซม์ G6PD
  • โรคเม็ดเลือดแดงแตกง่ายจากภูมิคุ้มกันตนเอง
  1. การสูญเสียเลือด เช่น
  • การเสียเลือดในทางเดินอาหาร
  • การเสียเลือดทางประจำเดือน
  • การเกิดอุบัติเหตุ

ทั้งนี้ ในการตรวจหาสาเหตุ ผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์ เพื่อซักประวัติ และตรวจร่างกายโดยละเอียด รวมทั้งอาจมีการตรวจเลือดเพิ่มเติม หรือในบางรายหากแพทย์สงสัยโรคในไขกระดูก จะต้องทำการตรวจไขกระดูก (bone marrow aspiration and biopsy) ร่วมด้วย

ภาวะเลือดจาง หรือ โลหิตจาง เป็นภาวะที่เม็ดเลือดแดงมีปริมาณลดน้อยลงกว่าปกติ ส่งผลให้ร่างกายนำออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้น้อยลง ทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติขึ้น โดยมักจะมีอาการเตือนของโรค ได้แก่ ปวดหัว ใจสั่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ผิวหนังซีดลงหรือเหลืองขึ้น ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจน เพราะหากปล่อยไว้ อาจเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนในอนาคตได้

ขอบคุณข้อมูลดีๆ

พญ. ณัฐกานต์ ตั้งสุขสมบูรณ์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเลือด
ศูนย์มะเร็ง (ชีวีสุข) โรงพยาบาลพญาไท 1

You may also like...

error: Content is protected !!